สรุปเนื้อหา & แนวข้อสอบ ภาษาไทย ม.ปลาย พร้อมเทคนิคพิชิตคะแนน

สรุปเนื้อหา & แนวข้อสอบ ภาษาไทย ม.ปลาย พร้อมเทคนิคพิชิตคะแนน

เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ คลิกเลย!

เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ คลิกเลย!

      ใครอยากเรียน ภาษาไทย ม.ปลาย ให้ปัง ตาม “พี่ยู – อ.สุรเชษฐ์ พิชิตพงศ์เผ่า” มาทางนี้ได้เลย!!

      ภาษาไทย เป็นหนึ่งในวิชาที่น้อง ๆ จะต้องเรียนกันทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา จนถึงระดับมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว แถมยังเป็นวิชาสอบของสนามสำคัญ ๆ อีกหลายสนาม

      จากครั้งก่อนที่พี่ยูได้พาน้อง ม.ต้น ไปเจาะเนื้อหา ภาษาไทย ม.ต้น กันไปแล้ว วันนี้พี่ยูขอพาน้อง ๆ ที่กำลังจะขึ้น ม.ปลาย หรือกำลังเรียนอยู่ในระดับชั้น ม.4 – 6 มาดูเนื้อหา ภาษาไทย ม.ปลาย ว่าต้องเรียนเรื่องอะไรกันบ้าง พร้อมกระซิบบอกแนวข้อสอบและเทคนิคพิชิตข้อสอบภาษาไทย ม.ปลาย ให้ดูเป็นตัวอย่าง เผื่อจะได้ลองฝึก ลองคิด ลองตอบ ตามกันด้วย 🤩

ภาษาไทย ม.ปลาย (ม.4, ม.5, ม.6) เรียนอะไรบ้าง?

      วิชาภาษาไทย ม.ปลาย น้อง ๆ ยังคงต้องเรียนเนื้อหาภาษาไทย 5 สาระสำคัญเหมือนที่ผ่านมาตั้งแต่ระดับประถมจนถึงระดับมัธยมต้น ได้แก่ การอ่าน / การเขียน / การฟัง การดู และการพูด / หลักการใช้ภาษา / วรรณคดีและวรรณกรรม

      พี่ยู สรุปเนื้อหาภาษาไทย ม.ปลาย (ม.4, ม.5, ม.6) โดยแยกออกเป็นเรื่องที่ต้องเรียนในแต่ละสาระ ดังนี้

ภาษาไทย ม.ปลาย (ม.4 ม.5 ม.6) เรียนอะไรบ้าง

1. สาระ : การอ่าน

  • อ่านออกเสียงบทร้อยแก้ว / ร้อยกรอง
  • อ่านแปลความ ตีความ และขยายความเรื่องที่อ่าน*
  • อ่านวิเคราะห์ วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นโต้แย้ง*
  • อ่านคาดคะเนเหตุการณ์และประเมินค่าเพื่อนำไปประยุกต์ใช้*
    (* บทอ่านทั้งงานเขียนร้อยแก้วและร้อยกรอง)
  • มารยาทในการอ่าน

2. สาระ : การเขียน

  • เขียนเรียงความ
  • เขียนย่อความจากสื่อที่หลากหลากหลาย
  • เขียนรายงานวิชาการ
  • มารยาทในการเขียน

3. สาระ : การฟัง การดู และการพูด

  • สรุปแนวคิดและแสดงความคิดเห็นจากเรื่องที่ฟังและดู
  • วิเคราะห์แนวคิด การใช้ภาษา ความน่าเชื่อถือจากเรื่องที่ฟังและดู
  • วิจารณญาณในการฟังและดู
  • พูดในโอกาสต่าง ๆ
  • พูดแสดงทรรศนะ
  • พูดโต้แย้ง
  • พูดโน้มน้าวใจ
  • มารยาทในการฟัง การดู และการพูด

4. สาระ : หลักการใช้ภาษา

  • ธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของภาษา
  • พันธกิจของภาษา
  • พลังของภาษา
  • ส่วนประกอบของภาษาระดับต่าง ๆ (เสียง / คำ / ประโยค)
  • การสร้างคำ
  • อิทธิพลของภาษาต่างประเทศในภาษาไทย
  • โครงสร้างประโยค
  • การใช้ถ้อยคำและสำนวน
  • ระดับภาษา
  • ราชาศัพท์
  • การแต่งบทร้อยกรองประเภทโคลง ฉันท์ ร่าย

5. สาระ : วรรณคดีและวรรณกรรม

  • การวิเคราะห์คุณค่าด้านภาษา / ศิลปะการประพันธ์
  • การวิเคราะห์คุณค่าด้านวัฒนธรรม / ความรู้ / ความเชื่อ
  • การวิเคราะห์คุณค่าด้านข้อคิด คติธรรม
  • การวิเคราะห์คุณค่าด้านอารมณ์
รายชื่อวรรณคดี / วรรณกรรม ของเนื้อหา ภาษาไทย ม.ปลาย

      เนื้อหาภาษาไทย ม.ปลาย สาระวรรณคดีและวรรณกรรม มี รายชื่อวรรณคดี / วรรณกรรม (หนังสือเรียนกระทรวงศึกษาธิการ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551) ที่น้อง ๆ จะได้เรียนกัน ได้แก่

วรรณคดีและวรรณกรรม - ภาษาไทย ม.4

  • บทนมัสการมาตาปิตุคุณและนมัสการอาจาริยคุณ
  • อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง
  • นิทานเวตาลเรื่องที่ 10
  • นิราศนรินทร์คำโคลง
  • หัวใจชายหนุ่ม
  • ทุกข์ของชาวนาในบทกวี
  • มงคลสูตรคำฉันท์
  • มหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดก

วรรณคดีและวรรณกรรม - ภาษาไทย ม.5

  • มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี
  • ลิลิตตะเลงพ่าย
  • บทละครพูดคำฉันท์เรื่องมัทนะพาธา
  • คัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์
  • โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน

วรรณคดีและวรรณกรรม - ภาษาไทย ม.6

  • เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา
  • สามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ
  • กาพย์เห่เรือ
  • สามัคคีเภทคำฉันท์
  • ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ
  • ขัตติยพันธกรณี

ภาษาไทย ม.ต้น vs ภาษาไทย ม.ปลาย แตกต่างกันอย่างไร?

      แม้ว่าวิชาภาษาไทยระดับชั้นประถม มัธยมต้น จนถึงมัธยมปลาย จะเรียน 5 สาระสำคัญเหมือนกัน แต่เนื้อหาภาษาไทยของแต่ละระดับชั้นจะมีความแตกต่างกันในบางเรื่อง เช่น ความละเอียดลุ่มลึกของเนื้อหา ระดับความยากและซับซ้อนของบทอ่านหรือตัวอย่างถ้อยคำ สำนวน ฯลฯ เป็นต้น

      เพื่อให้น้อง ๆ เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น พี่ยูจะ เปรียบเทียบเนื้อหาภาษาไทย ม.ต้น และภาษาไทย ม.ปลาย ให้ดูว่ามีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไรบ้าง

วิชาภาษาไทย ม.ต้น และ ม.ปลาย เนื้อหาเหมือนหรือต่างกัน?

✓ ความเหมือนในระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย

      ความเหมือนกันของการเรียนวิชาภาษาไทย ม.ต้น และภาษาไทย ม.ปลาย คือ น้อง ๆ จะได้ฝึกทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ให้คล่องแคล่วยิ่งขึ้น เรียนรู้คำศัพท์ สำนวน ความหมายที่กว้างขึ้น

      ได้ฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ผ่านภาษา / วรรณคดีหรือวรรณกรรม และฝึกแต่งคำประพันธ์หรือร้อยกรองของไทย

      รวมทั้งได้ฝึกการใช้ถ้อยคำ สำนวน ให้เหมาะสมในการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ และได้เรียนรู้หลักเกณฑ์ทางภาษาเรื่อง เสียง คำ ประโยคด้วย

✕ ความต่างเมื่อได้เรียนภาษาไทย ม.ปลาย

      ความแตกต่างของการเรียนภาษาไทยในระดับชั้น ม.ต้น และ ม.ปลาย คือ ภาษาไทย ม.ปลาย น้อง ๆ จะได้ฝึกทักษะทางภาษาหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น เพิ่มวงศัพท์ สำนวน ลักษณะทางความหมายของถ้อยคำ ขอบเขตความรู้และข้อสังเกตกว้าง ละเอียด และยากมากยิ่งขึ้น

      นอกเหนือจากเนื้อหาหรือหลักเกณฑ์ทางภาษา การฝึกทักษะทางภาษาทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน น้อง ๆ จะได้เรียนเรื่องกระบวนการคิดวิเคราะห์ผ่านภาษา / วรรณคดีหรือวรรณกรรม ที่มีมิติหลากหลายขึ้น การแต่งคำประพันธ์ตามฉันทลักษณ์ร้อยกรองไทยก็เพิ่มประเภทหลักและประเภทย่อยมากขึ้นกว่าตอนเรียนชั้นประถมหรือมัธยมต้น การใช้ถ้อยคำ สำนวน ประโยค ต้องคำนึงถึงปัจจัยและรูปแบบการสื่อสารที่ซับซ้อนขึ้น

      เรียกง่าย ๆ ว่าการเรียนภาษาไทย ยิ่งระดับสูงขึ้นก็จะได้เรียนรู้หลักเกณฑ์ทางภาษา ข้อยกเว้น ข้อสังเกต ตัวอย่าง ที่เพิ่มความละเอียดลุ่มลึก ความซับซ้อนและขยายวงความรู้ให้กว้างขวางมากขึ้นนั่นเอง

การสอบวิชาภาษาไทย ระดับ ม.ปลาย มีสอบสนามไหนบ้าง?

      พี่ยูขอบอกเลยว่า การสอบวิชาภาษาไทยระดับ ม.ปลาย มีสอบทั้งสนามในโรงเรียน และสนามสำคัญระดับประเทศ เลยนะ โดยสามารถแบ่งสนามสอบสำคัญออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

การสอบวิชาภาษาไทย ม.ปลาย มีสอบสนามไหนบ้าง?

1. ข้อสอบในระบบวัดและประเมินของโรงเรียน (มีคะแนน มีเกรด) เช่น

  • ข้อสอบเก็บคะแนนระหว่างภาค
  • ข้อสอบกลางภาค / ปลายภาค

2. ข้อสอบในระบบวัดและประเมินระดับชาติ เช่น

  • ข้อสอบ O-NET ม.6

3. ข้อสอบแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศทางภาษาไทย เช่น

  • เพชรยอดมงกุฎ ม.ปลาย

4. ข้อสอบแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัย เช่น

  • TGAT2 การคิดอย่างมีเหตุผล (ด้านความสามารถทางภาษา)
  • A-Level ภาษาไทย
  • NETSAT ภาษาไทย

รู้ไว้ไม่พลาด! แนวข้อสอบ ภาษาไทย ม.ปลาย เป็นอย่างไร?

      เตรียมตัวให้ดี… พี่ยูจะแอบกระซิบ แนวข้อสอบภาษาไทย ม.ปลาย ให้ฟัง!! โดยขอสรุปจากภาพรวมของข้อสอบ ดังนี้

  • ข้อสอบในระบบวัดและประเมินของโรงเรียน
  • ข้อสอบในระบบวัดและประเมินระดับชาติ
  • ข้อสอบแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศทางภาษาไทย
  • ข้อสอบแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัย

      แนวข้อสอบภาษาไทย ม.ปลาย โดยทั่วไปพบว่า

1. ด้านเนื้อหาตามหลักสูตร

  • เน้นออกตามหลักสูตร เช่น
    – ข้อสอบกลางภาค / ปลายภาค
    – ข้อสอบ O-NET ม.6
    – ข้อสอบ A-Level

  • เน้นประมวลความถนัดและทักษะทางภาษาที่ผ่านการเรียนตามหลักสูตรและประสบการณ์การใช้ภาษาไทยนอกหลักสูตร เช่น
    – ข้อสอบ TGAT2 การคิดอย่างมีเหตุผล (ความสามารถทางภาษา)
    – ข้อสอบ NETSAT ภาษาไทย
    – ข้อสอบ A-Level ภาษาไทย (บางข้อ)

2. ด้านรูปแบบข้อสอบและสิ่งที่ต้องการวัดความรู้ซึ่งสังเกตจากโจทย์และตัวเลือก

  • เน้นรูปแบบปรนัย หลายตัวเลือก (ส่วนใหญ่มี 5 ตัวเลือก) เลือกเพียง 1 คำตอบ เช่น ข้อสอบ A-Level / TGAT2 (ความสามารถทางภาษา) / O-NET

  • มีทั้งวัดความรู้ความจำ แต่ที่นิยมมาก คือ คิดวิเคราะห์โดยมีพื้นฐานจากความรู้ความจำหรือแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์หรือระเบียบการใช้ภาษา เช่น ข้อสอบกลางภาค / ปลายภาค / A-Level / O-NET

  • ให้น้ำหนักกับข้อสอบประเภทวัดทักษะ ประสบการณ์ทางภาษา โดยเฉพาะเรื่องคำศัพท์ / สำนวน / ข้อบกพร่องในการใช้ภาษาแบบต่าง ๆ สู่การประเมินความถนัดด้านการใช้ภาษามากยิ่งขึ้น เช่น
    – ข้อสอบ TGAT2 (ความสามารถทางภาษา)
    – ข้อสอบ A-Level (บางข้อ)
    – ข้อสอบ NETSAT

3. ด้านเนื้อหาตามสาระย่อย 5 สาระ

  • เน้นทั้ง 5 สาระ ที่เรียนตามหลักสูตร เช่น
    – ข้อสอบกลางภาคและปลายภาค
    – ข้อสอบ O-NET ม.6

  • บางสนามสอบเน้นเพียง 4 สาระ (หลักการใช้ภาษา / การอ่าน / การเขียน / การฟัง การดู และการพูด) ไม่เน้นสาระวรรณคดีและวรรณกรรม เช่น
    – ข้อสอบ A-Level

  • บางสนามสอบเน้นเพียง 2 – 3 สาระ (หลักการใช้ภาษา / การอ่าน / การเขียน) เช่น
    – ข้อสอบ TGAT2 (ความสามารถทางภาษา)
    – ข้อสอบ NETSAT

ตัวอย่างข้อสอบภาษาไทย ม.ปลาย พร้อมเฉลย by พี่ยู

      หลังจากที่ได้รู้แนวข้อสอบภาษาไทย ม.ปลาย ไปแล้ว น้อง ๆ หลายคนคงอยากรู้ว่าข้อสอบภาษาไทยระดับชั้น ม.ปลาย แต่ละสนามมีความยาก – ง่ายประมาณไหน? มีวิธีวิเคราะห์โจทย์อย่างไร? พี่ยูไม่พลาดที่จะหยิบ ตัวอย่างข้อสอบภาษาไทย ม.ปลาย พร้อมเฉลยละเอียด มาฝากกัน

แนวข้อสอบ A-Level ภาษาไทย สาระการอ่าน​

แนวข้อสอบ A-Level ภาษาไทย สาระการอ่าน

เฉลยแนวข้อสอบ A-Level ภาษาไทย สาระการอ่าน

เฉลยแนวข้อสอบ A-Level ภาษาไทย สาระการอ่าน

แนวข้อสอบ TGAT2 (ด้านความสามารถทางภาษา)

แนวข้อสอบ TGAT2 (ด้านความสามารถทางภาษา)

เฉลยแนวข้อสอบ TGAT2 (ด้านความสามารถทางภาษา)

เฉลยแนวข้อสอบ TGAT2 (ด้านความสามารถทางภาษา)

ติวตรงจุด! ภาษาไทย ม.ปลาย บทยอดฮิต ออกสอบบ่อย

      ถ้าอยากกวาดคะแนนสอบวิชาภาษาไทยให้ตุงกระเป๋าหรืออุ่นใจได้แต้ม น้อง ๆ ต้องอ่านหนังสือแบบเค้นประเด็น ฝึกทำโจทย์ หรือติวสอบให้ตรงจุด สำหรับ บทยอดฮิต ออกสอบบ่อย ของข้อสอบภาษาไทย ม.ปลาย พี่ยูได้วิเคราะห์ประเด็นหลักที่มักออกข้อสอบใน 3 สนามสำคัญของระดับชั้น ม.ปลาย คือ ข้อสอบ TGAT2 (ความสามารถทางภาษา), ข้อสอบ A-Level และข้อสอบ NETSAT ดังนี้

ภาษาไทย ม.ปลาย บทยอดฮิต ออกสอบบ่อย - ข้อสอบ TGAT2

1. ข้อสอบ TGAT2 (ด้านความสามารถทางภาษา) ออกสอบ 4 ประเด็น

  • การสื่อความหมาย
    – ความหมายกว้าง / ความหมายแคบ
    – ความหมายโดยตรง / ความหมายโดยนัย
    – ความหมายประจำคำ / ความหมายตามบริบท

  • การใช้ภาษา
    – ข้อบกพร่องในการใช้ภาษาแบบต่าง ๆ (กำกวม / ฟุ่มเฟือย / ต่างระดับ)
    – การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมกับบริบทหรือความหมาย
    – ระดับภาษา

  • การอ่าน
    – การอ่านสรุปความ / จับใจความ
    – การอ่านวิเคราะห์จุดประสงค์
    – การอ่านตีความ / อนุมาน

  • การเข้าใจภาษา
    – การเลือกใช้ถ้อยคำ
    – การเลือกใช้สำนวน
ภาษาไทย ม.ปลาย บทยอดฮิต ออกสอบบ่อย - ข้อสอบ A-Level ภาษาไทย

2. ข้อสอบ A-Level ออกสอบ 4 สาระ (ไม่ออกสาระวรรณคดีและวรรณกรรม)

  • การอ่าน
    – การอ่านวิเคราะห์จุดประสงค์ / น้ำเสียง / เจตนา
    – การอ่านเพื่อเข้าใจเนื้อหา / จับใจความ
    – การอ่านวิเคราะห์ข้อคิด
    – การอ่านตีความ / อนุมาน
    – การอ่านวิเคราะห์ทรรศนะ ข้อคิดเห็น

  • การเขียน
    – โวหารการเขียน
    – การเขียนเรียงความ
    – การเรียงลำดับข้อความ
    – ภาษาแสดงทรรศนะ
    – ภาษาแสดงเหตุผล
    – ภาษาโน้มน้าวใจ
    – ภาษาโต้แย้ง

  • การฟังและการพูด
    – การอ่านวิเคราะห์จุดประสงค์ / น้ำเสียง / เจตนา
    – การถาม – ตอบที่สัมพันธ์กัน
    – การสรุปสาระสำคัญจากเรื่องที่ฟัง
    – การพูดในโอกาสต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
    – การฟังอย่างมีวิจารณญาณ

  • หลักการใช้ภาษา
    – การเขียนสะกดคำ
    – ประโยคบกพร่อง (กำกวม / ฟุ่มเฟือย / ต่างระดับ)
    – การใช้คำตามบริบท
    – คำที่มีความหมายตรง / ความหมายอุปมา
    – คำยืมภาษาอังกฤษ
    – ถ้อยคำสำนวน
    – โครงสร้างและเจตนาของประโยค
    – ระดับภาษา
    – ราชาศัพท์

    *** ไม่ออกสาระวรรณคดีและวรรณกรรม ***

ภาษาไทย ม.ปลาย บทยอดฮิต ออกสอบบ่อย - ข้อสอบ NETSAT

3. ข้อสอบ NETSAT ออกสอบ 2 สาระ คือ

  • การอ่าน
    – ความหมายของคำ วลี ประโยค และข้อความ
    – ถ้อยคำหรือข้อความที่แสดงเจตนาต่าง ๆ
    – การสรุปใจความสำคัญ
    – การวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น
    – การตีความและประเมินคุณค่า
    – การอ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์

  • การเขียน
    – การใช้คำ วลี ประโยค และข้อความ
    – การเชื่อมโยงความ
    – การใช้ภาษาระดับต่าง ๆ
    – การเขียนย่อหน้า

เทคนิค “รู้ 3 ทำ 2 by พี่ยู” พิชิตข้อสอบภาษาไทย ม.ปลาย ให้คะแนนทะลุเป้า

รู้ 3 มีอะไรบ้าง ?

1. รู้ศักยภาพตัวเอง

      เทคนิครู้ 3 ในข้อแรก สิ่งที่น้อง ๆ ต้องรู้คือ รู้ว่าวิชาภาษาไทย ตัวเราเองมั่นใจขนาดไหน? เคยลองทำข้อสอบจริงหรือยัง? และทำได้แค่ไหน? เพื่อประเมินศักยภาพของตัวเอง

      โดยเฉพาะ การจำลองสถานการณ์การสอบด้วยการทำข้อสอบย้อนหลังของสนามนั้นอย่างน้อย 2 – 3 ปีล่าสุด (กำหนดเวลาเสมือนจริง ไม่คิดหาตัวช่วยระหว่างหาคำตอบ) แล้วดูคะแนนที่ได้ในแต่ละฉบับ ดูคะแนนเฉลี่ยจากทุกฉบับที่ทำได้ ให้คะแนนเป็นตัวประเมินความสามารถตามสภาพจริง อย่าเพิ่งคิดว่า ได้เกรด 3.5 หรือเกรด 4 ที่โรงเรียนมาจะเป็นตัวการันตีว่าเก่งหรือแน่ภาษาไทย เราควรเข้าใจความจริงว่า สุดท้ายเราวัดและแข่งขันกันที่ผลการสอบของสนามนั้น ๆ

      ต้องรู้ว่า คณะ / มหาวิทยาลัยที่จะสอบ ต้องใช้คะแนน A-Level ภาษาไทยหรือไม่? ใช้เท่าไหร่? แต่ไม่ว่าจะใช้สัดส่วนกี่ % ถ้าต้องใช้คะแนนก็คือสำคัญ จะได้ไม่คิดทิ้งขว้างและตั้งใจจริง ที่สำคัญถ้ายิ่งใช้คะแนนเยอะก็ยิ่งต้องทุ่มเทให้มากเป็นพิเศษ 

      อย่าลืมดูเงื่อนไขคะแนนวิชาอื่น ๆ หรืออย่าเทอย่าทิ้งวิชาอื่นที่ต้องใช้คะแนนยื่นร่วมด้วยนอกจากคะแนนวิชาภาษาไทย หลายคนมักประมาท คิดว่าถ้าได้คะแนนสูง ๆ จากวิชาหนึ่งแล้ว วิชาอื่นก็จะไม่สนใจเลย ต้องดูคะแนนต่ำสุดของปีล่าสุดหรือ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ของสาขาหรือคณะที่เราสนใจจะเลือกเรียนด้วยว่า คะแนนรวมควรได้ไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่ หรือคะแนนที่ปลอดภัยควรเผื่อไว้กี่คะแนนจากวิชาไหนบ้าง

      ยิ่งถ้าน้องได้ได้ลองทำข้อสอบจริงหลายฉบับแล้ว ต้องสังเกตและสรุปให้ได้ว่า บทไหนตัวเองพลาดบ่อย? บทไหนเป็นจุดแข็งที่ปล่อยผ่านได้อย่างสบายใจ? จะได้แก้ไขปัญหาเฉพาะบท เฉพาะเรื่องให้ตรงจุดที่สุด การจับปัญหาได้แล้วรีบแก้จะดีกับเราอย่างแท้จริง

2. รู้วิธีที่คนสอบติดใช้ และ Timeline การสอบ

      น้อง ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะเตรียมตัวสอบภาษาไทย ม.ปลาย อย่างไร? คนสอบติดถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดี หรือเป็นโมเดลให้เราทำตามได้ แบบมีหลักฐานเชิงประจักษ์

      ถ้าน้องรู้ว่าคนที่สอบติดมีวิธีเตรียมตัวอย่างไร ก็ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก นำวิธีที่เขาเหล่านั้นใช้มาเป็นทางลัดที่มีคนเคยผ่านไปแล้วถึงที่หมายได้จริง เช่น อ่านรีวิวการเตรียมตัวสอบ คลิปแนะนำการเตรียมตัวสอบจากรุ่นพี่ ประเด็นปัญหาที่รุ่นพี่มาเล่าหรือเน้นย้ำว่าอย่าทำพลาดเรื่องนั้นเรื่องนี้

      สำคัญอีกเรื่องที่ต้องรู้ก็คือ Timeline การสอบ รู้ว่าจะเริ่มสอบช่วงไหน ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนไหน เพื่อจะได้วางแผนต่อไปได้ ทั้งนี้การเตรียมตัวก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพวิชาภาษาไทยของของน้อง ๆ แต่ละคนที่ดูได้จากการลองทำข้อสอบจริง

      พี่ยูแนะนำว่าไม่ควรดูหรือมั่นใจว่า ตัวเองจะทำข้อสอบสนามนั้นได้ดีเพียงดูจากเกรดของโรงเรียนที่ผ่านมา เพราะหลายครั้งจากหลายคนพบและตระหนักแล้วว่า เกรดไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า จะทำข้อสอบจริงได้มากหรือน้อย สุดท้ายขึ้นอยู่กับความแม่นยำต่อเนื้อหาในประเด็นที่ออกสอบจริงและประสบการณ์การทำข้อสอบของสนามนั้นแบบมากพอจนตัวเราเองเห็นแนวโน้มหรือโอกาสและปัญหาที่ต้องพัฒนาหรือแก้ไขให้ทันก่อนถึงวันสอบจริง

3. รู้แนวข้อสอบ (ข้อนี้สำคัญสุด)

      เทคนิครู้ 3 ในข้อสุดท้ายนี้ก็คือ ต้องรู้ Test Blueprint ที่เป็นปัจจุบันหรืออย่างน้อยย้อนหลังไม่เกิน 2 ปี แต่ถ้าจะให้ดีสุดคือข้อมูลปีที่น้อง ๆ จะสอบ และ 1 ปีก่อนหน้า จะได้นำมาเทียบกันดูว่าบทไหนเป็นขาประจำ ออกซ้ำ ออกบ่อย หรือบทไหนไม่ออกเลย จะได้เตรียมตัวแบบไม่หลงทาง อ่านตรงจุด สะดุดเจอเแต่เรื่องที่ทุ่มเทไปแบบไม่เสียเวลาหรือไม่เปลืองแรง

      พี่ยูแนะนำว่าควรฝึกทำข้อสอบจริงย้อนหลัง อย่างน้อย 1 – 3 ฉบับ ที่ใกล้ปีที่เราสอบที่สุด เวลาทำข้อสอบก็ให้ลองสังเกตประเด็นที่ถามในบทนั้น จะได้ตามอ่านได้แบบล็อกเป้าหมาย

      บทไหนที่รู้ว่าออกชัวร์ ออกเยอะ ให้น้อง ๆ เก็บบทนั้นก่อนได้เลย ส่วนบทอื่นที่ออกน้อยข้อก็ไม่ใช่ทิ้งขว้าง ถ้ามีเวลาควรเก็บให้ได้ทุกบททุกข้อเท่าที่จะทำได้สุดความสามารถ

เทคนิคพิชิตข้อสอบ ภาษาไทย ม.ปลาย ให้คะแนนทะลุเป้า

ทำ 2 มีอะไรบ้าง ?

1. ทำแผน (อย่างรอบคอบ & รอบด้าน)

      – แผนก่อนสอบ คนสอบติดมักมีแผนการใช้เวลาก่อนสอบ เช่น การอ่านหนังสือ การทำโจทย์ การทบทวน การลำดับความสำคัญว่าจะทำอะไร จะอ่านวิชาไหนบ้าง ฯลฯ

      – แผนวันสอบ พอถึงวันสอบจริงอาจเกิดอาการลนได้ แต่ต้องนิ่งให้ไว สติต้องกลับมา และควรวางแผนวันสอบ เช่น ไม่จำเป็นต้องทำเรียงข้อ ข้อไหนทำได้ทำก่อน หรือถ้าจะมั่วก็ต้องดูแนวโน้มตัวเลือกที่น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง

2. ทำตามแผน (อย่างจริงจัง & อย่างสม่ำเสมอ)

      – แผนอ่านหนังสือ เก็บเนื้อหาพื้นฐาน ประเด็นที่ข้อสอบมักถาม หลักการที่จำเป็นต้องรู้ เช่น จะอ่านวันละกี่ชั่วโมง สัปดาห์ไหน เดือนไหน ต้องอ่านอะไรได้ถึงไหน แผนระหว่างทางอาจยืดหยุ่นได้ แต่เป้าหมายปลายทางจะต้องเห็นผลจริง ไม่ผ่อนผันแบบเลื่อนลอย อย่ายืดหยุ่นแบบไม่เห็นวันที่จะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง ขืนทำแบบนั้น ไม่เรียกว่ามีแผน หรือมีแผนแต่เป็นแผนที่ไกลจากความสำเร็จ

      – แผนทำโจทย์จริง อย่างน้อย 3 – 5 ฉบับ ที่ผ่านมาต้องได้ลองทำเองจริงจัง จับเวลาเสมือนจริง สังเกตแนวคำถาม ประเด็นที่โจทย์จี้ไปตรงจุดของบทนั้น ข้อไหนตรงกับบทไหนเรื่องไหน ตัวเราเองมักพลาดที่เรื่องอะไร โจทย์แนวไหนเรื่องไหนที่ทำให้เสียเวลาคิดนาน จะคิดจะข้ามแนวโจทย์ประเภทไหน เรื่องไหนแนวไหนที่ออกบ่อยหลายปี ถ้าทิ้งถ้าเทจะเสียคะแนนฟรีทั้ง ๆ ที่รู้ก่อนแล้วว่าจะออก แบบนั้นไม่ควรข้าม ไม่ควรเท ไม่ควรทิ้ง 

      พลาดข้อไหนต้องเรียนรู้ แม่นข้อไหนแนวไหนแล้วอาจปล่อยผ่านได้แบบไม่ต้องกังวลจนลนลาน ทำโจทย์จริงไม่ได้ให้ได้ชื่อว่า ขยันทำโจทย์ได้มาก ไม่ได้เก็บจำนวนฉบับหรือจำนวนข้อไว้ขิงใคร แต่ทำโจทย์เพื่อให้เห็นแนว เห็นประเด็นที่ข้อสอบเน้น ชอบถาม ที่สำคัญคือ เห็นว่าบทไหนเป็นปัญหาที่ต้องแก้ให้ทันก่อนวันสอบจริง

      – แผนทบทวน บทที่เป็นปัญหา / พลาดบ่อย จะทบทวนได้ตรงประเด็นจำเป็นต้องรู้ก่อนว่า จะทบทวนอะไร ทบทวนจุดไหน จะทบทวนให้ไม่เสียแรงเสียเวลาเปล่า สำคัญที่สุดคือ ต้องรู้สภาพ ต้องรู้จุดอ่อนจุดด้อยของวิชานั้น เรื่องนั้น ประเด็นนั้น เช่น ถ้าทำโจทย์ 3 ฉบับย้อนหลัง ผิดเรื่องราชาศัพท์ทุกฉบับ ต้องสังเกตว่า แต่ละฉบับที่ทำผ่านมา ออกราชาศัพท์ที่เราต้องรู้หรือแม่นหัวข้ออะไร เช่น หลักการใช้ “ทรง” หรือการใช้คำว่า “บรม” หรือกริยาราชาศัพท์คำไหนที่ออกบ่อย 

      ถ้ารู้ความผิดพลาดของตัวเราเองแบบละเอียด เราจะทบทวนหรือแก้ไขได้ง่าย เหมือนกินยารักษาตรงตามอาการ ไม่ใช่ทบทวนหมดเหมือนกินยาชุด อาการไหนหนักหรือทุเลาแล้วก็ยังกินยาทั้งชุด ยาบางชุดไม่ตรงกับอาการที่สาหัสอีก แบบนั้นกินยาไปเปลืองเปล่า นอกจากโรคจะไม่หาย ยังอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ให้ป่วยหนักหรือป่วยเรื้อรังอีก

      แผนทุกอย่างที่วางไว้ต้องทำให้ได้อย่างที่วางแผน หากน้อง ๆ จริงจัง สม่ำเสมอ และทุ่มเทสุดฤทธิ์ ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว สู้ ๆ นะ อย่าลืมว่า ตัวเราเองรอรับความสำเร็จของตัวเราเองอยู่ ยังมีพี่ยูและเพื่อน ๆ รวมถึงคนที่พร้อมสนับสนุนและฮีลใจเราพร้อมเป็นแรงใจให้เราผ่านทุกการทดสอบไปได้ด้วยดีนะ ลุย ลุย ลุย

      พี่ยูหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้น้อง ๆ มีความเข้าใจในเนื้อหาวิชาภาษาไทย ม.ปลาย มากขึ้นว่าเรียนเรื่องอะไรบ้าง? แนวข้อสอบเป็นอย่างไร? และนำความรู้ไปใช้ในการเตรียมพร้อมรับมือเนื้อหาวิชาภาษาไทย ม.ปลาย และพิชิตคะแนนภาษาไทยในสนามสอบสำคัญ ๆ ได้

      หรือหากใครต้องการตัวช่วยติวภาษาไทย พี่ยูขอแนะนำ คอร์สภาษาไทย ม.ปลาย และ คอร์สภาษาไทย A-Level ที่จะช่วยให้น้อง ๆ พิชิตเกรด 4 และเพิ่มความมั่นใจก่อนลงสนามสอบเข้ามหาวิทยาลัย

      โดยพี่ยู สรุปเนื้อหาไว้ครบ สกัดประเด็นที่จำเป็นต้องรู้ และรวบรวมข้อสอบจากหลากหลายสนามให้ลองฝึกทำ พร้อมเสริม Harmonic Memo สรุปจำเป็นทำนอง สนุกท่องเป็นจังหวะ เทคนิคช่วยจำที่นำไปใช้ได้จริง อยากเรียนภาษาไทยให้สนุก ห้ามพลาดเด็ดขาดเลย!!

Picture of อ.สุรเชษฐ์ พิชิตพงศ์เผ่า (พี่ยู)

อ.สุรเชษฐ์ พิชิตพงศ์เผ่า (พี่ยู)

อักษรศาสตรมหาบัณฑิต (ภาษาไทย) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลการเรียนดีเยี่ยม 4.00 และเป็นผู้เขียนหนังสือ คู่มือเตรียมสอบ “GAT คิด วิเคราะห์ เชื่อมโยง” (BEST SELLER @ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ) ประสบการณ์การสอนมากกว่า 17 ปี

บทความแนะนำ

Top
ทดลองเรียนทดลองเรียนโปรโมชันโปรโมชันรับคำแนะนำรับคำแนะนำ